News

ฟิล์มแยกชิ้น และการศึกษาหน้าจอ

Thai translation by Wikanda Promkhuntong

ช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ศาสตร์ภาพยนตร์และสกรีนศึกษาเกิดขึ้นในโลกวิชาการ แนวทางการพัฒนาความรู้ให้ความสนใจกับโลกทรรศน์ที่มียุโรปเป็นศูนย์กลาง ทั้งในแง่การศึกษาประวัติศาสตร์ ทฤษฎี และกรอบแนวคิดการวิพากษ์ แม้นักวิชาการที่ศึกษาภาพยนตร์โลก (world cinema) และภาพยนตร์ข้ามชาติ (transnational cinema) จะพยายามขยายพรมแดนการเลือกภาพยนตร์สำหรับการศึกษาและกรอบแนวคิดในการวิเคราะห์แต่ก็ยังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ  หนึ่งในกลุ่มภาพยนตร์และงานวิชาการที่มักจะไม่ได้รับความสนใจหรือแทบไม่มีการพูดถึงคือภาพยนตร์และงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับทวีปแอฟริกาและผู้คนที่ไม่ได้เป็นชาวตะวันตกผิวขาว พัฒนาการในวงการภาพยนตร์ศึกษาที่ผ่านมาทำให้การแลกเปลี่ยนมุมมองที่น่าสนใจที่จะช่วยปรับโลกทรรศน์ภาพยนตร์และสกรีนศึกษาในศตวรรษที่ 21 มีข้อจำกัด แม้ในช่วงเวลาปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์สู่จอภาพที่หลากหลายได้ง่ายขึ้น และพลวัตของโลกแห่งสกรีน (screen worlds) ในปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว

โครงการวิจัยนี้มุ่งศึกษาโลกแห่งกรีน หรือสกรีนเวิร์ลส (screen worlds) ทั้งในแง่การศึกษาภาพยนตร์ในฐานะตัวบท (text) และโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยให้ความสนใจบริบททวีปแอฟริกา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์จากประเทศไนจีเรีย และเอธิโอเปีย) เพื่อสะท้อนให้เห็นแนวทางการวิจัยที่ภาพยนตร์ที่อยู่ชายขอบของทวีปเป็นประเด็นศูนย์กลางแห่งการศึกษานอกจากนี้โครงการยังมุ่งขยายขอบเขตการศึกษาในบริบทเปรียบเทียบ (comparative studies) สกรีนเวิร์ลสของโลก โดยเฉพาะสกรีนเวิร์ลสในโลกตอนใต้ (Global South) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวีปแอฟริกาและเอเชีย งานวิจัยสนใจศึกษาความคล้ายคลึง แตกต่าง และพัฒนาการที่สอดคล้องคู่ขนานกัน

กลุ่มผู้วิจัยมุ่งหมายที่จะตอบโต้กับกรอบแห่งการกีดกันในบริบทภาพยนตร์และสกรีนศึกษาด้วยกระบวนการที่หลากหลาย ไม่เฉพาะแต่ในบริบทวิชาการ (ผ่านการจัดประชุมวิชาการ และการตีพิมพ์) แต่ยังรวมถึงการขับเคลื่อนด้วยแนวทางการผลิตงานสร้างสรรค์และกิจกรรมขับเคลื่อนสังคมด้วยวิธีการทำงานใหม่ๆ (เช่น การวิพากษ์ด้วยสื่อภาพและเสียง และการผลิตภาพยนตร์) โครงการยังมุ่งผลักดันการปลดปล่อยความเป็นอาณานิคมในบริบทภาพยนตร์และกรีนศึกษา (ด้วยการผลิตเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอน การผลิตหลักสูตร ประมวลรายวิชา และการเรียนการสอนที่ครอบคลุมความแตกต่างหลากหลายของสังคมวัฒนธรรมโลก) ในขั้นทฤษฎี เรามุ่งสร้างฐานความรู้ใหม่ผ่านการพิจารณาแนวคิดสกรีนเวิร์ลส และแนวคิดอื่นๆ ที่อาจมีข้อจำกัดน้อยกว่าแนวคิดเดิมที่มีอยู่ เช่น ภาพยนตร์โลก (world cinema) หรือ ภาพยนตร์ข้ามชาติ (transnational cinema) โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อสะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของการเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียง และกระบวนการผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์ในหลายมุมโลกในปัจจุบันที่มีความแตกต่างหลากหลาย

Share